กังวลว่าทำห้องครัวในบ้าน ทาวน์โฮม เรามีข้อแนะนำให้หายกังวล
สำหรับห้องครัวนั้นหลายคนก็อาจจะคิดว่าจะทำเป็ฯห้องครัวในบ้านหรือนอกบ้านดีมีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง ซึ่งเราต้องมาดูกันก่อนจะใช้งานครัวหนักแค่ไหน เราต้องทำอาหารสำหรับคนในบ้านมากน้อยเพียงใด และประเภทของอาหารที่เราทำ จะเป็นแบบไทยสไตล์ที่มีทั้ง การผัด ทอด คั่ว หรือจำเป็นที่จะต้องใช้ไฟแรงบ่อยๆ ในการทำอาหาร หรือว่าเราแค่ทำอาหารเบาๆ อย่างการต้ม อาจจะมีทอดบ้างนิดหน่อย
ถ้าเป็นครัวนอกบ้านแล้วจะเหมาะกับการทำอาหารประเภทร้อนแรง หนักหน่วง อย่างเช่นการ ผัด ทอด ต้ม และคั่ว หรือการประกอบอาหารที่มีควันเยอะ หรือมีกลิ่นแรง ข้อดีของครัวประเภทนี้จะสามารถระบายควันได้ดี ไม่มีกลิ่นอับหลงเหลือให้กวนจมูก ในกรณีที่ทำแบบเปิดโล่ง และสามารถลดทอนในเรื่องของอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวไปได้บางอย่างด้วย อย่างเช่น เครื่องดูดควัน หรือพัดลมระบายอากาศ เนื่องจากเป็นที่เปิดโล่งและมีอากาศถ่ายเทอยู่แล้ว
ส่วนห้องครัวในบ้านนั้นเหมาะสำหรับคนที่นิยมทำอาหารแบบเบาๆ ง่ายๆ ทั่วไป ข้อดีของชุดครัวแบบภายในตัวบ้าน จะเป็นเรื่องของความสวยงามตามสไตล์ครัวบิ้วอิน สะดวกสบายเวลาใช้งาน ทั้งการจัดเก็บอุปกรณ์ต่างๆ ในแบบครัวบิ้วอิน ที่มีทั่งโซนทำอาหาร และโซนล้างทำความสะอาด ที่ออกแบบมาอย่างลงตัวทุกการใช้งาน
บ้านที่เป็นทาวน์โฮมมักจะมีพื้นที่จำกัด สำหรับใครที่ไม่ค่อยได้ทำกับข้าวบ่อย ๆ การเลือกที่มีห้องครัวในบ้านก็ถือว่าอาจจะสะดวกกว่า แต่จะออกแบบอย่างไรดี เพื่อให้ใช้งานได้จริงและเหมาะกับการใช้ชีวิตของเรา รวมถึงสามารถใช้พื้นที่ได้คุ้มต่าอีกด้วย
จัดครัวชิดผนังด้านเดียว (One-Wall Kitchen)
แบบแปลนพื้นฐานสำหรับห้องครัวทั่วไป โดยการตกแต่งห้องครัวด้วยแปลนแบบ “การจัดครัวชิดผนังด้านเดียว (One-Wall Kitchen)” หรือการวางตำแหน่งเคาน์เตอร์ ตู้เก็บของ และเครื่องใช้ทั้งหมดไว้ที่ผนังด้านใดด้านหนึ่งของห้องครัว ซึ่งเป็นแปลนห้องครัวที่เหมาะสมสำหรับที่พักอาศัยที่มีพื้นที่แคบ ๆ เช่น ทาวน์โฮมหลังเล็ก คอนโด สตูดิโอ และห้องใต้หลังคาเป็นอย่างมาก เพราะแปลนแบบนี้กินพื้นที่น้อย ในขณะเดียวกันก็ยังเหลือที่ว่างพร้อมทั้งทำให้บรรยากาศในภาพรวมดูปลอดโปร่งด้วย
ครัวแบบ 2 แถวตรง (Galley Kitchen)
สำหรับแปลนห้องครัวแบบ 2 แถวตรง (Galley Kitchen) เป็นแปลนที่มีทางเดินคั่นกลางระหว่างผนังทั้ง 2 ข้างของห้องครัว ในขณะที่ด้านหน้ากับด้านหลังของห้องครัว จะเป็นผนังหรือเป็นทางออกทั้ง 2 ด้านก็ได้ไม่จำกัด เหมาะสำหรับที่พักอาศัยที่มีตัวบ้านยาว หรือห้องครัวแยกออกไปจากตัวบ้าน
ส่วนข้อดีของแปลนห้องครัวในลักษณะนี้ นอกจากตำแหน่งตู้เก็บของและของใช้จะอยู่ใกล้มือ สามารถหยิบจับมาใช้ได้ง่ายแล้ว ยังมีเคาน์เตอร์ทำครัวเพิ่มขึ้นมาอีกด้าน ซึ่งก็เป็นพื้นที่ที่มากพอสำหรับรองรับคนทำครัวได้ถึง 2 คนเลยทีเดียว หรือในกรณีที่ท้ายครัวเป็นผนังปิด ยังต่อเติมเคาน์เตอร์ครัวเข้าไปเพื่อใช้เป็นที่วางของใช้ได้อีกด้วย
ครัวรูปตัวแอล (L-Shaped)
การจัดห้องครัวอีกหนึ่งรูปแบบที่เหมาะสมกับทาวน์โฮมที่เป็นที่พักอาศัยขนาดเล็กด้วยเช่นเดียวกัน โดยการจัดครัวรูปตัวแอล ก็คือ การวางแปลนพื้นที่ทำครัวชิดผนังที่มีด้านติดกัน เมื่อมองในภาพรวมแล้วจะเห็นเป็นรูปตัวแอล (L) ซึ่งประโยชน์ของมันก็คือ มีความสะดวกในการเดินและทำอาหาร พร้อมทั้งมีพื้นที่เหลือสำหรับวางโต๊ะกับเก้าอี้รับประทานอาหารด้วย
โดยในส่วนของผนังควรมีความยาวอย่างน้อย 4.5 เมตร เพราะเป็นขนาดที่ช่วยให้มีพื้นที่ในการเก็บของ พร้อมทั้งทำครัวได้อย่างสะดวกสบายและมีประสิทธิภาพ แต่ถ้าหากมีพื้นที่ใช้สอยกว้างขวาง อาจจะต้องพิจารณาการวางแปลนห้องครัวด้วยรูปแบบที่แตกต่างออกไป เพื่อให้ได้ใช้พื้นที่ภายในที่พักอาศัยให้เกิดประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่ามากกว่า
ครัวรูปตัวยู (U-Shaped)
ห้องครัวในบ้านที่วางแปลนไว้บนผนัง 3 ด้านแบบรูปตัวยู (U) หรือเกือกม้า (Horseshoe) เป็นแปลนห้องครัวที่เหมาะสำหรับพื้นที่ขนาดใหญ่ และเจ้าของบ้านที่ต้องการปรุงอาหารหลายๆ เมนูในเวลาเดียวกัน อีกทั้งควรจะมีระยะห่างระหว่างผนัง อย่างน้อย 3 เมตรขึ้นไป เพื่อให้ง่ายต่อการจัดเตรียม ทำความสะอาด และการใช้ฟังก์ชั่นเสริมต่างๆ ซึ่งถ้าหากพื้นที่ตรงกลางแคบเกินไป ก็อาจทำให้บานประตูของเก็บของ หรือลิ้นชักชนกันได้ ในกรณีที่มีการเปิดใช้พร้อมกัน
ครัวแบบมีเคาน์เตอร์กลาง (The Kitchen Island)
ห้องครัวแบบมีเคาน์เตอร์กลางหรือไอส์แลนด์ เริ่มเป็นที่นิยมของคนในปัจจุบันมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเป็นแปลนห้องครัวที่มีเคาน์เตอร์ครัวที่แยกออกมาต่างหาก ก็เลยทำให้มีพื้นที่ในการปรุงอาหาร ฟังก์ชั่นเพิ่มเติม และสามารถใช้งานได้อย่างหลากหลายนั่นเอง
นอกจากนี้ยังสามารถดีไซน์ให้แตกต่างด้วยการเติมแต่งเครื่องใช้ ลิ้นชักเก็บของ รวมไปถึงอ่างล้างจานบนไอส์แลนด์ด้วยก็ได้ หรือจะใช้ท็อปเคาน์เตอร์ธรรมดาๆ ก็ดูเข้าดีไม่น้อย อีกทั้งยังออกแบบให้เป็นเคาน์เตอร์ถาวร หรือแบบที่สามารถเคลื่อนย้าย เพื่อลดพื้นที่ครัวก่อนนำไปเพิ่มเติมให้กับส่วนอื่นๆ อย่างเช่น พื้นที่รับประทานอาหาร เป็นต้น
ครัวแบบเพนินซูล่า (The Peninsula)
การวางแปลนครัวในลักษณะนี้มีความคล้ายคลึงกับครัวรูปตัวแอล คือ การวางเคาน์เตอร์ครัวที่มีทั้งด้านยาวและด้านสั้นบนผนังที่ติดกัน แต่แตกต่างออกไปตรงที่ครัวแบบเพนินซูล่า จะมีเคาน์เตอร์ส่วนที่เพิ่มเติมออกมาอีกด้าน แต่ก็ไม่ยาวเท่ากับแปลนครัวรูปตัวยู เหมาะอย่างยิ่งสำหรับพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม แถมสัดส่วนองค์ประกอบต่างๆ ยังเข้ากันได้ดีกับพื้นที่ทุกขนาดด้วย
นอกจากนี้เคาน์เตอร์ที่เพิ่มออกมาจะทำให้มีพื้นทีเก็บของมากขึ้นแล้ว ยังมีความสะดวกสบายมากกว่าเมื่อมีอยู่ด้านในมากกว่า 1 คนด้วย อย่างเช่น คุณแม่ที่พาลูกน้อยมานั่งในครัว เพื่อความสะดวกในการดูแล ในขณะเดียวกันยังใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นโต๊ะสำหรับรับประทานอาหารได้
เป็นไอเดียสำหรับออกแบบห้องครัวภายในบ้านที่เราสามารถเลือกไปปรับใช้กับทาวน์โฮมของเราได้ ติดตามไอเดียดี ๆ ได้ที่ townhomeplus.com