ต่อเติมหน้าบ้าน ทาวน์โฮม มีข้อบังคับทางกฎหมาย ที่จะต้องศึกษาก่อนที่จะลงมือต่อเติม
เมื่อเราเข้าอยู่อาศัยในบ้านระยะเวลาหนึ่ง อาจจะพบว่าพื้นที่ใช้สอยของเดิมไม่พอ หรือฟังก์ชั่นใช้งานบางอย่างยังไม่ตอบสนองได้ครบ ทำให้เราจะต้องทำการต่อเติมพื้นที่เพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอยภายในบ้าน หรือเพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งานที่เราต้องการ การต่อเติมบ้านที่เราจะเห็นกันบ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการต่อเติมหน้าบ้านเพิ่มเพื่อให้เป็นโรงจอดรถ หรือ เพิ่มห้องบริเวณหน้าบ้าน ซึ่งยิ่งเป็นทาวน์โฮมแล้ว จะมีหลายบ้านที่ทำการต่อเติมบ้านเพิ่มจากของเดิม
ซึ่งการต่อเติมหน้าบ้าน ทาวน์โฮมนั้น ไม่ใช่ว่าจะทำอะไรก็ได้ จะมีข้อกฎหมายกำหนดในการต่อเติม ซึ่งจะต้องทำเรื่องขออนุญาตทางราชการ มีส่งแบบแนบเพื่อพิจารณา ถ้าเราทำโดยไม่ได้รับอนุญาต อาจจะมีปัญหาให้รื้อถอน และมีค่าปรับภายหลัง ซึ่งข้อบังคับสำหรับการต่อเติมหน้าบ้าน ทาวน์โฮมนั้น จะมีรายละเอียดหลายอย่างที่จะต้องศึกษาก่อนลงมือทำ
การต่อเติมบ้าน ความหมายในทางกฎหมายคืออะไร
การต่อเติมบ้าน ก็คือการดัดแปลงบ้านจากเดิมที่เคยขออนุญาตไว้ตอนที่ก่อสร้าง ซึ่งตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 (พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร) มาตรา 4 ได้นิยามคำว่า “ดัดแปลง” ให้หมายถึงการเปลี่ยนแปลง ต่อเติม เพิ่ม ลด หรือขยายขอบเขต แบบ รูปทรง สัดส่วน น้ำหนัก หรือเนื้อที่โครงสร้างหรือส่วนต่าง ๆ ของอาคารที่ก่อสร้างไปแล้วให้เปลี่ยนไปจากเดิม
ซึ่งในการก่อสร้างหรือต่อเติมใด ๆ ก็ตาม ควรจะต้องทำให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร คือกฎหมายที่ใช้ควบคุมการก่อสร้างและดัดแปลงอาคารให้เป็นไปอย่างเรียบร้อย มีความปลอดภัย มีการป้องกันอัคคีภัย และไม่รุกล้ำหรือรบกวนพื้นที่รอบข้าง
ต่อเติมบ้านมีในเบื้องต้นมีข้อกำหนดอะไรที่ควรจะรู้
มีข้อมูลที่เราควรรู้ก่อนจะต่อเติมบ้าน ว่าสิ่งใด ทำได้ ทำไม่ได้ไว้ให้เราได้รู้ในเบื้องต้น ก่อนที่จะตัดสินใจ ซึ่งเป็นข้อกำหนดตามกฎหมายการต่อเติมหรือดัดแปลงอาคาร
ปรึกษาวิศกรก่อนจะต่อเติม บ้านที่สร้างเสร็จแล้ว แล้วอยากจะต่อเติมหน้าบ้านให้เป็นระเบียงจะต้องปรึกษาวิศวกรก่อน เพื่อตรวจสอบโครงสร้างของบ้าน โดยทั่วไปแล้วการต่อระเบียงหน้าบ้าน มี 2 แบบ แบบมีเสา และ แบบไม่มีเสา ซึ่งแบบไม่มีเสา ทำการเสริมคานงัด โดยตัวคานจะเชื่อมต่อกับโครงสร้างภายในบ้าน แต่วิธีการนี้ค่อนข้างยุ่งยากต้องเจาะผนัง หากชั้นล่างมีฝ้าเพดานจะต้องทำการรื้อใหม่เพื่อเสริมคาน ส่วนแบบ มีความสะดวกและง่ายกว่ากันมาก โดยออกแบบเป็นโครงสร้างเหล็กให้มีโครงสร้างแยกออกจากตัวอาคาร สามารถออกแบบระเบียงให้มีความกว้างกว่าแบบไร้เสา
ตรวจเช็คระยะร่น ก่อนจะต่อเติมบ้าน ระยะร่นจะเริ่มนับจากราวกันตกมาถึงขอบเขตที่ดิน ต้องไม่น้อยกว่า 2 เมตร ซึ่งไม่สามารถต่อเติมบ้านจนเต็มมิดทั้งพื้นที่ หรือเต็มปิดทึบด้านหน้า ด้านข้าง และ/หรือด้านหลังได้ เนื่องจากมีกฎหมายเกี่ยวกับระยะร่นและที่เว้นว่างควบคุมอยู่ จะต้องมีระยะเว้นพื้นที่ว่างระหว่างหน้าตัวบ้านกับเขตที่ดินของตัวเอง
ต้องมีระยะร่นระหว่างตัวอาคารกับจุดกึ่งกลางถนนอย่างน้อย 3 เมตร ต้องมีที่เว้นว่างระหว่างตัวอาคารกับเขตที่ดินด้านหน้าอย่างน้อย 3 เมตร ด้านหลังและด้านข้างอย่างน้อย 2 เมตร และต้องมีขอบเขตอาคารไม่เกิน 70% ของที่ดิน โดยนับจากชั้นที่กว้างที่สุด
ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การต่อเติมบ้าน ไม่ว่าจะเป็นส่วนไหนของตัวบ้าน หากครอบคลุมพื้นที่เกิน 5 ตารางเมตร หรือมีการเพิ่มหรือลดจำนวนเสาหรือคาน หรือมีการเปลี่ยนแปลงด้วยการใช้วัสดุหรือขนาดที่ต่างไปจากเดิม หรือมีการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้น้ำหนักบ้านเพิ่มขึ้น จะต้องทำเรื่องแจ้งหน่วยงานและได้รับอนุญาตก่อนถึงจะดำเนินการได้
ต้องมีสถาปนิกและวิศวกรควบคุม ในการต่อเติมเราจะต้องมีแบบแปลนที่ผ่านการดูแบบจากสถาปนิกและวิศกร เพื่อเป็นเอกสารในการยื่นขออนุญาต จากเจ้าหน้าที่พนักงานด้วย ซึ่งสถาปนิกผู้ออกแบบและวิศวกรผู้ควบคุมการก่อสร้าง และในกรณีการเปลี่ยนแปลงวัสดุ เช่น การเปลี่ยนพื้นจากไม้เป็นกระเบื้อง ก็ต้องให้สถาปนิกหรือวิศวกรก่อสร้างช่วยคำนวณน้ำหนัก เพื่อสรุปว่าการต่อเติมข้างบ้านจะเข้าข่ายต้องขออนุญาตก่อนหรือไม่
ต้องได้รับการยินยอมจากเพื่อนบ้าน ก่อนจะลงมือต่อเติม ทาวน์โฮมเราจะต้องแจ้งเพื่อนบ้าน และได้รับอนุญาตจากเพื่อนบ้านในบริเวณที่มีรั้วติดกันก่อน ซึ่งการอนุญาตนั้นจะต้องได้รับเอกสารยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร ถ้าไม่มีเอกสาร ถ้ามามีปัญหากันภายหลัง อาจจะเป็นเรื่องยุ่งยากในการดำเนินการต่อ
ถ้าเราไม่ทำตามกฎหมายในการต่อเติมหน้าบ้าน ทาวน์โฮม จะมีบทลงโทษอย่างไร
การต่อเติมหน้าบ้าน ทาวน์โฮมถ้าเราไม่ทำตามข้อกฎหมายที่กำหนดไว้ อาจจะต้องโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง หรือถ้าดำเนินการไปแล้ว มีการร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบจากการต่อเติม หรือดำเนินการไม่ถูกต้อง ต่อเติมบ้านแบบผิดกฎหมาย จะต้องโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกิน 30,000 บาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง